ผู้เขียน หัวข้อ: เที่ยววัด ไหว้พระ 10 วัด กรุงเทพฯ เสริมบุญบารมีต้อนรับสิ่งใหม่ ๆ  (อ่าน 5 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 185
    • ดูรายละเอียด
เที่ยววัด ไหว้พระ 10 วัด กรุงเทพฯ เสริมบุญบารมีต้อนรับสิ่งใหม่ ๆ

ชวนไหว้พระ 10 วัดรอบกรุงเทพฯ เป็นวัดที่อยู่ใกล้กับสนามหลวง สามารถจัดทริปไหว้พระ 10 วัดกรุงเทพฯ ใน 1 วันได้ เป็นที่เที่ยวกรุงเทพฯ ดี ๆ ที่สามารถเที่ยวกันได้ทั้งครอบครัว

          สำหรับการเริ่มต้นสิ่งใหม่ ใคร ๆ ก็อยากที่จะหาสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเอง การไปไหว้พระตามวัดสำคัญต่าง ๆ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีทีเดียวค่ะ วันนี้เราจึงได้รวบรวม 10 วัดใกล้สนามหลวงมาฝากกัน เพื่อให้สามารถจัดทริปไหว้พระ 10 วัด ในกรุงเทพฯ ได้แบบสบาย ๆ ไปดูกันค่ะว่าจะมีที่ไหนบ้าง


1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

          วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว เป็นวัดที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ด้วยเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) พระคู่บ้านคู่เมืองของเมืองไทย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2325 พร้อมกับการสร้างพระบรมมหาราชวังและกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

          นอกจากพระแก้วมรกตแล้ว ภายในยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสถานที่ต่าง ๆ อันมีสถาปัตยกรรมที่งดงามให้ได้เที่ยวชมอีกมากมาย เช่น พระอุโบสถ, ศาลาราย, พระศรีรัตนเจดีย์, ปราสาทพระเทพบิดร หรือพระพุทธปรางค์ปราสาท, พระมณฑป, หอมณเฑียรธรรม, หอคันธารราษฎร์, หอพระนาก, พระวิหารยอด, นครวัดจำลอง, พระโพธิธาตุพิมาน, พระบรมราชานุสาวรีย์ประจำรัชกาล, พระอัษฎามหาเจดีย์ หรือพระปรางค์แปดองค์, พระมณฑปยอดปรางค์ และหอระฆัง เป็นต้น

          วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักพระราชวัง โทรศัพท์ 0 2623 5500 ต่อ 3100


2. วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

          วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ตั้งอยู่บริเวณถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ถือได้ว่าเป็นอีกวัดที่สำคัญของกรุงเทพฯ ด้วยมีพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์เคยมาผนวชอยู่ที่นี่ แต่เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อว่า "วัดใหม่" โดยเมื่อปี พ.ศ. 2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุราชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎฯ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุประทับอยู่วัดสมอราย (คือวัดราชาธิวาสในปัจจุบัน) เสด็จมาอยู่ครอง และสมเด็จพระอนุราชาธิราชเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ก็ทรงได้ปรับปรุงวางหลักเกณฑ์ความประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามพระธรรมวินัย

          ปัจจุบันวัดบวรนิเวศราชวรวิหารเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมสถาปัตยกรรมของอาคารต่าง ๆ พร้อมทั้งไหว้พระขอพร โดยมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระอุโบสถ, พระเจดีย์ใหญ่, วิหารพระศาสดา, พระตำหนักเพชร, พระตำหนักจันทร์, หอระฆัง, หอไตร และพระตำหนักใหญ่ เป็นต้น

          ทั้งนี้วัดบวรนิเวศราชวรวิหารยังเป็น 1 ใน 2 วัด ที่เป็นสถานที่เก็บพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้มีการบรรจุพระบรมราชสรีรางคารไว้ที่ฐานของพระพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ ภายในพระอุโบสถ โดยมีการเปิดให้ประชาชนเข้าถวายสักการะด้วย


3. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

          วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นวัดประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2412 โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรม ซึ่งมีการผสมผสานทั้งสถาปัตยกรรมไทยและตะวันตกเข้าด้วยกัน จนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธอังคีรส พระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงาม ประดิษฐานอยู่บนฐานของชุกชีหินอ่อนจากอิตาลี นอกจากนี้วัดแห่งนี้ยังเป็นวัดประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อีกด้วย เพราะพระองค์ได้รับพระราชภาระในการทำนุบำรุงและบูรณปฏิสังขรณ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารจึงเปรียบเสมือนวัดประจำพระองค์เช่นกัน

          ปัจจุบันวัดแห่งนี้มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร มีสิ่งที่น่าสนใจ อาทิ พระเจดีย์, พระอุโบสถ, พระระเบียงหรือพระวิหารคด, พระวิหาร, วิหารทิศหรือวิหารมุข, ศาลาราย, หอระฆังและหอกลอง เป็นต้น

          และที่สำคัญยังเป็น 1 ใน 2 วัด ที่เป็นสถานที่เก็บพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารไว้ที่ถ้ำศิลาใต้ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส ภายในพระอุโบสถ เปิดให้ประชาชนเข้าถวายสักการะทุกวัน ในเวลา 08.00-10.00 น. และ 16.00-18.30 น.


4. วัดอรุณราชวราราม

          วัดที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่เดินทางมาเที่ยวกรุงเทพฯ ต่างต้องแวะไปเที่ยวชมวัดอรุณฯ กันสักครั้ง วัดแห่งนี้ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับฝั่งของพระบรมมหาราชวัง เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมมีชื่อว่า วัดมะกอก ต่อมาสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดย้ายราชธานีมาตั้งที่กรุงธนบุรี และได้มีการล่องเรือมาจนสว่างที่นี่ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดแจ้ง จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ก็ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ และพระราชทานนามว่า วัดอรุณราชธาราม ต่อมาสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็มีการบูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มอีก และเปลี่ยนชื่อเป็น วัดอรุณราชวราราม

          ปัจจุบันวัดแห่งนี้มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร มีสัญลักษณ์สำคัญ คือ พระปรางค์ ซึ่งมีลักษณะทรงขอม องค์พระปรางค์ประธานสูงถึง 81.85 เมตร ประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่าง ๆ อย่างสวยงาม เปิดให้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าไปเที่ยวชมและกราบไหว้ขอพรทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.30-17.30 น.


5. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

          วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรกโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยได้มีการก่อสร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2332 และได้เปลี่ยนจากชื่อ วัดโพธาราม เป็น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็ได้ทรงเปลี่ยนสร้อยนามใหม่เป็น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

          การบูรณปฏิสังขรณ์ที่สำคัญอีกช่วงหนึ่งคือสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้มีการสร้างปูชนียวัตถุและปูชนียสถานเพิ่มเติม และขยายอาคารบางหลังให้ใหญ่ขึ้น มีนายช่างจากหลากหลายแขนงมาช่วยกันทำงานด้านศิลปกรรม จนมีความสง่างามมาจนถึงปัจจุบัน

          ปัจจุบันวัดแห่งนี้มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร มีสิ่งที่น่าสนใจภายในวัด เช่น พระวิหารพระพุทธไสยาส, พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล, พระอุโบสถ, พระมณฑป, พระระเบียง, พระวิหารทิศ, พระวิหารคด และศาลาการเปรียญ เป็นต้น


6. วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

          เป็นอีกสัญลักษณ์สำคัญของไทยที่เรามักจะเห็นติดไปกับภาพของเสาชิงช้า โดยวัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนตีทองและถนนบำรุงเมือง หน้าวัดหันออกทางถนนอุณากรรณ สร้างโดยพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์พระราชทานนามว่า "วัดมหาสุทธาวาส" แต่พระวิหารที่มีการสร้างใหม่ยังไม่ทันเสร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้ทำการบูรณะสร้างพระวิหารจนสำเร็จแล้ว โปรดให้สร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ สัตตมหาสถาน และสร้างกุฏิสำนักสงฆ์ประดิษฐานสังฆาราม จากนั้นพระราชทานนามว่า "วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร"

          ภายในวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีด้วย

          ปัจจุบันวัดแห่งนี้มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ พระอุโบสถ, พระวิหาร, พระวิหารคด หรือพระระเบียง, ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช, ศาลาวิหารทิศ และหอระฆัง เป็นต้น


7. วัดราชนัดดารามวรวิหาร

          วัดที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ด้วยเป็นที่ตั้งของโลหะปราสาท ซึ่งมีหลงเหลือเพียงแห่งเดียวของโลกเท่านั้น วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งพระองค์ทรงทรงสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติแก่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี จึงทรงพระราชทานนามว่าวัดราชนัดดาราม เมื่อปี พ.ศ. 2386 ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามมากมาย อาทิ พระอุโบสถ,  พระวิหาร, ศาลาการเปรียญ, กำแพงแก้วและศาลาราย, หอระฆัง, เขาพระฉาย ฯลฯ

          และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ "โลหะปราสาท" พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2389 มีการจำลองแบบมาจากประเทศศรีลังกา มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีสถาปัตยกรรมแบบไทย เป็นอาคาร 7 ชั้น ลดหลั่นความกว้างกันลงมา อาคารชั้นล่าง ชั้นที่ 3 และชั้นที่ 5 เป็นคูหาและระเบียงรอบ ส่วนชั้นที่ 2 ชั้นที่ 4 และชั้นที่ 6 ทำเป็นคูหาจตุรมุขมียอดเป็นบุษบกชั้นละ 12 ยอด และชั้นที่ 7 เป็นยอดปราสาทจตุรมุขสำหรับประดิษฐานพระบรมธาตุ รวมเป็น 37 ยอด แต่ละชั้นจะมีบันไดวนตรงกลางปราสาทให้เดินขึ้นไป

          ปัจจุบันวัดแห่งนี้มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 2224 8807


8. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

          เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ อาทิ พระราชวังดุสิต พระที่นั่งอนันตสมาคม พระตำหนักจิตลดารโหฐาน สวนสัตว์ดุสิต และทำเนียบรัฐบาล โดยจะตั้งอยู่บนถนนนครปฐมติดคลองเปรมประชากร เป็นอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร

          ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ช่วงปี พ.ศ. 2369 ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ (ต้นราชสกุลพนมวัน) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้รับการโปรดเกล้าจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นแม่ทัพรักษาพระนคร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ได้ทรงตั้งกองบัญชาการทัพที่วัดแหลม (วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามในปัจจุบัน) และเมื่อได้ปราบกบฏเรียบร้อยแล้ว จึงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้พร้อมพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันอีก 4 พระองค์

          ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดเบญจบพิตร" ซึ่งหมายถึงวัดของเจ้านาย 5 พระองค์ จนปี พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้เพิ่มสร้อยต่อท้ายเป็น "วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม"

          ภายในวัดมีสิ่งสำคัญมากมาย อาทิ พระอุโบสถ, พระพุทธชินราช, พระระเบียง, ศาลาหน้าพระอุโบสถ, ต้นพระศรีมหาโพธิ และศาลาอุรุพงษ์ เป็นต้น


9. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

          วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือวัดภูเขาทอง แลนด์มาร์กที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งของกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ริมคลองมหานาค และคลองรอบกรุง แขวงบ้านบาตรตัดกับคลองบางลำพู เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดสระแก และได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดสระเกศ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม และพระราชทานนามเสียใหม่

          สิ่งที่โดดเด่นมากของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ก็คือ "พระบรมบรรพต" โดยได้เริ่มสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งสูงประมาณ 77 เมตร ด้านบนสุดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ


10. วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

          อีกวัดที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงามของเมืองไทย ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพระอารามหลวงของพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณี

          ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถ, หอไตร, หอพระจอม, ศาลาทรงไทย และหอระฆัง ฯลฯ และสิ่งที่ห้ามพลาด ก็คือ "ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารหลวง" ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชพิธีสิบสองเดือน นอกจากนี้ในวิหารยังมีภาพสุริยุปราคาในสมัยรัชกาลที่ 4 และพระประธาน "พระพุทธสิหังคปฏิมากร ปางสมาธิ" โดยมีพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ภายในพระพุทธอาสน์ของพระประธานองค์นี้ด้วย