MIS-C ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในเด็ก หลังติดเชื้อ COVID 19 ภาวะ MIS-C คืออะไร ?
MIS-C ย่อมาจาก Multisystem Inflammatory Syndrome in Children หมายถึง กลุ่มอาการอักเสบจากหลายระบบที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังจากติดเชื้อโควิด-19
ภาวะ MIS-C จะเกิดขึ้นช่วงไหน ?
อาการ MIS-C ที่เกิดขึ้นอาจเริ่มได้ตั้งแต่ในช่วงที่กำลังจะหายจากโรคโควิด-19 หรืออาจเกิดขึ้นตามหลังจากการติดเชื้อแล้วประมาณ 2 - 6 สัปดาห์ โดยอายุเฉลี่ยของเด็กที่พบคือช่วงอายุ 9 ปี และพบอัตราการเกิดภาวะ MIS-C ในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง
อาการของภาวะ MIS-C ?
ผู้ป่วยที่พบภาวะ MIS-C อาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอาการ หลังการติดเชื้อโควิด-19 ดังต่อไปนี้
มีไข้สูง ≥ 38 °C นานมากกว่า 24 ชั่วโมง
มีผื่น ตาแดง มือเท้าบวมแดง ปากแดงแห้งแตก หรือมีอาการอักเสบของเยื่อบุต่างๆ
มีต่อมน้ำเหลืองโต
มีอาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ หรือเกิดอาการช็อก
มีภาวะเลือดออกง่าย จากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน
มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น เหนื่อย หายใจหอบ
มีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก ปวดศีรษะรุนแรง ซึมลง
มีอาการไตวายเฉียบพลัน
เด็กที่เป็นโรคโควิด-19 และพบกลุ่มอาการ MIS-C หากมีอาการรุนแรง อาจทรุดลงอย่างรวดเร็วและถึงแก่ชีวิตได้ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด โดยหากพบอาการผิดปกติตามที่กล่าวมา พ่อแม่ควรตัดสินใจและรีบพาเด็กมาพบกุมารแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาทันที
ความรุนแรงของภาวะ MIS-C ?
ภาวะ MIS-C จากการอักเสบของระบบภายในของร่างกายในเด็กที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มีหลายระดับ
ในผู้ป่วยเด็กที่มีอาการไม่มากและไม่มีอาการช็อก ผู้ป่วยสามารถหายกลับมาเป็นปกติหลังได้รับการรักษา และสามารถกลับไปโรงเรียนได้
ส่วนเด็กที่มีอาการหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจนั้นน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จำเป็นที่ต้องให้กุมารแพทย์โรคหัวใจทำการวินิจฉัย รักษา ตรวจติดตาม และประเมินอาการ เพื่อให้คำตอบคุณพ่อคุณแม่ได้ชัดเจนที่สุดว่า ผู้ป่วยสามารถกลับมาวิ่งเล่นออกกำลังกายได้ตามปกติหรือไม่
ดังนั้น การดูแลเด็กขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน โดยจะมีกุมารแพทย์โรคหัวใจเป็นผู้ประเมินว่าผู้ป่วยสามารถกลับมาทำกิจกรรม ออกกำลังกายได้มากน้อยเพียงใด
การรักษาภาวะ MIS-C ?
การรักษาภาวะ MIS-C มีความจำเป็นต้องได้ยากลุ่มต้านการอักเสบ และให้การรักษาตามอาการตามระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับการติดตามประเมินอาการหลังจากได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิด ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหนักและอาจส่งผลรุนแรงถึงชีวิต จึงมีความจำเป็นในการดูแลรักษาและสังเกตอาการในหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤต หรือ PICU โดยมีทีมกุมารแพทย์เวชบำบัดวิกฤตที่พร้อมให้การดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ร่วมกับทีมกุมารแพทย์เฉพาะทางสหสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรคระบบหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสมองและประสาท โรคไต รวมถึงโรคเลือด และมีการติดตามอาการหลังจากอาการดีขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติต่อไป
เด็ก ๆ ควรป้องกันตัวเองอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19
เมื่อเข้าสู่ระบบการเรียนการสอน on site ตามปกติแล้ว อีกหนึ่งหนทางที่จะป้องกันไม่ให้เด็กๆ ต้องพบกับภาวะ MIS-C ก็คือการดูแลตัวเองและป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 เพราะอาการดังกล่าวจะเกิดตามหลังการติดเชื้อโควิด-19
สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กๆ และคนในครอบครัว โดยฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามเกณฑ์ที่ควรได้รับ โดย ณ ขณะนี้การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 5 ปีขึ้นไป (ข้อมูลปี 2022)
สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยผู้ปกครองควรเลือกซื้อขนาดที่มีความเหมาะสมรับกับใบหน้าของเด็ก
พกสเปรย์แอลกอฮอล์ เลือกแบบที่สะดวกในการใช้ให้กับเด็กๆ เช่น แบบห้อยคอ เพราะหากเก็บไว้ในกระเป๋าหรือโต๊ะอาจลืมฉีดหรือลืมทิ้งไว้ได้
หมั่นสอนให้เด็กๆ เว้นระยะห่างจากผู้อื่น อย่างน้อย 1 เมตร หรือ 1 ช่วงแขนขึ้นไป โดยเฉพาะเมื่อพบเพื่อนหรือคนที่มีอาการป่วย เช่น ไอ หรือมีน้ำมูก
เวลาทานข้าว โดยเฉพาะที่โรงเรียน หรือนอกบ้าน งดการรับประทานอาหารโดยใช้ช้อนส้อมหรือแก้วร่วมกับผู้อื่น ควรให้เด็กพกขวดน้ำ อาหารไปเอง
ควรกำชับให้เด็กๆ ล้างมือให้สะอาด ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร
สอนให้เด็กๆ ไม่พูดคุยกันระหว่างรับประทาน
หากออกไปเล่นนอกสถานที่ ควรเลือกไปเล่นในบริเวณที่เปิดโล่ง มีอากาศถ่ายเท จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้อีกระดับหนึ่ง
ระหว่างนั่งเรียนอยู่ในห้องแอร์ ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่นั่งใกล้ชิดกัน โดยให้เว้นระยะห่าง 1 – 2 เมตร
ไม่เอามือจับหน้า จับตา ซึ่งควรต้องฝึกตอนอยู่ที่บ้านตลอดเวลาเพื่อให้เด็กๆ รู้สึกเคยชิน
หลังเลิกเรียน เด็กๆ ต้องป้องกันตัวเองอย่างไร
ก่อนขึ้นรถกลับบ้าน ให้ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่เหลวหรือแอลกอฮอล์
เมื่อกลับถึงบ้านให้รีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนทำอย่างอื่น
ถอดเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วให้ใส่ตระกร้าซัก และพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ที่รองเท้า
ผู้ปกครองควรฝึกหรือเตือนเด็กๆ ตามคำแนะนำนี้ทุกวัน เพื่อให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำเหล่านี้ได้อย่างคล่องแคล่วเป็นขั้นเป็นตอนจนเคยชิน และนำไปปฏิบัติจนเป็นนิสัย ก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้